สำนักงานเศรษฐกิจการคลังขอชี้แจงประเด็นเรื่องขอความชัดเจนเรื่องมาตรการเยียวยาจากคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ ว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด จำนวน 28 จังหวัด นั้น เป็นการบริหารจัดการเพื่อควบคุมการระบาด และเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 โดยได้มีการยกระดับมาตรการในการควบคุม การระบาดของโรค เช่น การจำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการ การปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด และการขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เป็นต้น โดยเป็นแนวทางในการดูแลสาธารณสุขที่เพียงพอและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุขไปพร้อม ๆ กัน และขอให้มั่นใจว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีนโยบายทางการเงิน และนโยบายทางการคลังที่พร้อมจะดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการระบาดอย่างใกล้ชิด และอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ภาครัฐมีแหล่งเงินทั้งในส่วนของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นและรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวนกว่า 1.39 แสนล้านบาท และเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในส่วนที่เหลือ จำนวน 4.7 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563) และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 2.9 แสนล้านบาท ที่จะดูแลและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป อนึ่ง ตามที่มีข่าวว่า กระทรวงการคลังจะมีมาตรการเยียวยาแจกเงิน จำนวน 4,000 บาท ขอเรียนว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด