หัวข้อ : เสวนาเรื่อง Hedge Fund and It’s Implication to Capital Market and Economy
ผู้ร่วมเสวนา : 1) Mr. Tarun Nagpal, Head of Global Fund Derivatives, Deutsche Bank London
2) Mr. Harjive Singh Oberoi, Senior Director, Global Treasury UOB
3) นายชำนาญ วังตาล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยธนาคาร
4) Mr. Rags Raghavan, Managing Director, Chief Country Officer Deutsche Bank
บทสรุป:
1. Mr. Rags Raghavan ได้อธิบายถึงความหมายโดยทั่วไปของกองทุนประกันความเสี่ยง (Hedge fund) ว่า เป็นการลงทุนรวมรูปแบบหนึ่ง (Pool investment vehicle) ที่แสวงหาอัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจ และอนุญาตให้ผู้จัดการสามารถทำธุรกรรมการซื้อ (Long) และขาย (Short) ในตลาด ได้โดย ไม่มีข้อจำกัด ซึ่งค่าตอบแทนที่ผู้จัดการจะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับผลการบริหารจัดการกองทุนของตน ทั้งนี้ Hedge fund มักจะถูกประณามว่าเป็นเหตุให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน เนื่องจากเข้าทำธุรกรรมเพื่อเก็งกำไรจากค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงจนทำให้ระบบการเงินขาดเสถียรภาพ นอกจากนี้ การที่ Hedge fund มักจะเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเงินเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ส่งผลให้เกิดทัศนคติในเชิงลบเกี่ยวกับ Hedge fund อย่างไร ก็ตาม จากการศึกษาของ IMF พบว่า Hedge fund ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงิน นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาอื่นๆ ที่แสดงว่า Hedge fund ช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องในตลาด และช่วยพัฒนากลไกราคาในตลาดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นผ่านกระบวนการ Arbitrage และเทคนิคทางการเงินอื่นๆ
2. Mr. Tarun Nagpal ได้กล่าวถึงกลไกการดำเนินงานของ Hedge fund ว่าเป็นรูปแบบการลงทุนทางการเงินแบบหนึ่งที่มีลักษณะแตกต่างไปจากวิธีการลงทุนแบบดั้งเดิม ดังนี้
รายการ
|
การลงทุนแบบเดิม
|
Hedge Funds
|
1. เป้าหมายการลงทุน |
ดีกว่าอัตราเฉลี่ยในตลาด |
เป็นบวกภายใต้สถานการณ์ต่างๆ |
2. ปัจจัยหลักที่กระทบผลตอบแทน |
ผลการดำเนินงานของตลาด |
ความรู้ความชำนาญของผู้จัดการ |
3. ข้อจำกัดในการลงทุน |
มีข้อจำกัดด้านการซื้อ (Long) เท่านั้น |
ไม่มีข้อจำกัด |
4. ค่าตอบแทนของผู้จัดการ |
ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ |
ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานของตน |
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา จำนวน Hedge fund ได้ทวีจำนวนมากขึ้นและมีพัฒนาการของกลยุทธ์ในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional investor) ได้เพิ่มบทบาทการลงทุนใน Hedge fund มาโดยตลอด
สำหรับเหตุผลหลักของการลงทุนใน Hedge fund ของผู้ลงทุนสถาบันและรายย่อย คือ เพื่อรักษาเงินลงทุน และให้การลงทุนมีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งไม่ขึ้นอยู่กับการลงทุนในรูปแบบเดิม ตลอดจนให้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนในตลาดเงิน
จากผลการศึกษาพบว่า Hedge fund ที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดในช่วงที่ผ่านมา หากมองในเชิงกลยุทธ์ที่ใช้คือ Hedge fund แบบ Long/short หากมองในเชิงภูมิศาสตร์ คือ Hedge fund ในภูมิภาคเอเชีย
นอกจากนี้ วิทยากรยังได้แนะนำว่ายังมีกองทุนอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า กองทุนเพื่อลงทุนในกองทุนประกันความเสี่ยง (Fund of hedge fund: FOHF) ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนใน Hedge fund ต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการกระจายความเสี่ยง
3. Mr. Harjive Singh Oberoi ได้ยก Long Term Capital Management (LTCM) เป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับ Hedge fund ที่ประสบความล้มเหลวในการดำเนินงาน โดยกล่าวว่าไม่มีแบบจำลองการบริหารความเสี่ยงใดที่มีความสมบูรณ์แบบ ซึ่งก็รวมถึงแบบจำลองที่ LTCM นำมาใช้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ Mr. Oberoi มองว่าปัจจัยที่ทำให้ LTCM เกิดความล้มเหลวมิได้มาจากข้อบกพร่องในแบบจำลองการบริหารความเสี่ยง และการขาดความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลเท่านั้น แต่ยังมาจากการที่ตลาดประเมินระดับความเสี่ยง (Leverage) ของ LTCM ต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย ดังนั้น ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับกลไกการทำงาน ผลตอบแทน และความเสี่ยงของ Hedge fund จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึง
4. นายชำนาญ วังตาล ได้ให้มุมมองจากธนาคารพาณิชย์เกี่ยวกับกองทุนประกัน ความเสี่ยง (Hedge fund) ว่า เดิมธนาคารพาณิชย์มีรายได้หลักจากการให้สินเชื่อ อย่างไรก็ตาม การเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินส่งผลให้ Credit spread ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของธนาคารลดลง ดังนั้น ธนาคารจึงต้องแสวงหาการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ โดยมี Hedge fund เป็นทางเลือกหนึ่ง ทั้งนี้ การที่ธนาคารจะลงทุนใน Hedge fund จะต้องพิจารณาเรื่องการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และเรื่องผลตอบแทนที่คุ้มกับความเสี่ยงในการลงทุนควบคู่กันไปด้วย
5. โดยสรุปแล้ว การเสวนาในช่วงนี้ ผู้เสวนาได้ให้ความรู้ความเข้าในเกี่ยวกับความหมาย ประวัติความเป็นมา การดำเนินงาน และความคิดเห็นต่างๆ ตลอดจนกรณีศึกษาเกี่ยวกับ Hedge fund ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่ให้ข้อคิดว่า เราไม่ควรมอง Hedge fund ว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี แต่ขอให้มองว่าเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ก่อให้เกิดทางเลือกในการลงทุนที่แตกต่างไปจากรูปแบบการลงทุนที่มีอยู่เดิม