สรุปประเด็นข้อสังเกตและความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ต่อการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังระดับภูมิภาค
วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2548
กรมธนารักษ์
• การใช้ประโยชน์ของที่ราชพัสดุเพื่อสังคม ได้แก่ การสร้างศูนย์กีฬา ที่อยู่อาศัย และสวนสาธารณะ จะมีส่วนช่วยเหลือพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำที่ดินที่ทิ้งร้างกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ และการใช้พื้นที่เพื่อสร้างห้องสมุด ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน ส่วนราชการต่างๆ จึงควรตระหนักถึงและทบทวนการใช้พื้นที่ราชพัสดุเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศและสังคมโดยรวมให้มากที่สุด
• พิจารณาจัดหาที่ราชพัสดุเพื่อก่อสร้างห้องสมุดสาธารณะให้ได้ทุกอำเภอ
กรมบัญชีกลาง
• การจัดทำ GPP จังหวัดเป็นการวางระบบข้อมูลเศรษฐกิจจังหวัดให้มีมาตรฐาน เพื่อเป็นเครื่องชี้วัดจุดอ่อน จุดแข็งของเศรษฐกิจจังหวัด เป็นเครื่องมือเสริมความสามารถในการทำงานของ CFO จังหวัด และนำไปสู่การวิเคราะห์และวางแผนการจัดการด้านเศรษฐกิจการคลังของจังหวัด นำไปสู่การสนับสนุนการทำงานของผู้ว่า CEO ให้มีประสิทธิภาพต่อไป
• e-Auction นำไปสู่การประมูลในวงกว้างมากขึ้น ไม่เฉพาะในระดับจังหวัด โดยจะช่วย ให้เกิดการเปรียบเทียบราคา การกำหนดราคามาตรฐาน และทำให้การบริหารจัดการการประมูลมีประสิทธิภาพสูงสุด
• การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เข้าไปดูแลให้มีการกู้ในระบบมากขึ้นแทนการกู้นอกระบบ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้มีช่องทางร้องเรียนและขอคำปรึกษาเพื่อหาแหล่งเงินกู้ทดแทนแหล่งเงินนอกระบบ อาจต้องเพิ่มตู้หรือจุดรับเรื่องราวร้องทุกข์ให้มากขึ้นและทั่วถึง
กรมศุลกากร
• ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและธนาคารไทยต่อเงินกีบของลาวมีค่อนข้างน้อย ทำให้การค้าขายระหว่างไทยและลาวไม่สามารถขยายตัวได้ดีเท่าที่ควร
• กระทรวงการคลังจะมีบทบาทในการส่งเสริมธุรกิจให้ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้แรงงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทั้งการจ้างงาน สร้างรายได้แก่แรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน การลดต้นทุนการผลิตของธุรกิจไทย นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยลดปัญหาแรงงานต่างด้าวของไทยด้วย
• เนื่องจากบทบาทด้านการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรจะลดความสำคัญลงตามอัตราภาษีศุลกากรที่ลดลง ในอนาคตกรมศุลกากรจะมีบทบาทมากขึ้นในการป้องกันและปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย และการอำนวยความสะดวกทางการค้า
กรมสรรพสามิต
•กรมสรรพสามิตได้มีการดำเนินการเรื่องการออกใบอนุญาตสุราชุมชนแล้ว จะต้องมีแนวทางเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพของสุราชุมชนให้ได้มาตรฐาน โดยอาจเป็นแนวทางทั้งทางลบ เช่น การมีบทลงโทษต่างๆ การเพิกถอนใบอนุญาต และทางบวก เช่น การร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการสร้างช่องทางการตลาด อาทิ การจัดนิทรรศการ การจัดหาตลาด การสร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงความปลอดภัยของการบริโภคสุรา ชุมชนที่มีมาตรฐาน
•การดำเนินการดังกล่าวจะถือเป็นมิติใหม่ของกรมสรรพสามิต ซึ่งจำเป็นต้องใช้มาตรการทางบวกและทางลบควบคู่กันไป โดยมาตรการทางลบได้แก่บทกำหนดโทษระดับต่างๆรวมถึงการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการ ซึ่งต้องบังคับใช้อย่างเหมาะสมจริงจัง อย่างไรก็ตามต้องให้โอกาสแก่ผู้ผลิตในการจะปรับปรุงคุณภาพสุราของตนเองด้วย
กรมสรรพากร
•เพื่อให้การบริหารจัดการภาษีมีประสิทธิภาพ ควรมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เช่น จำนวน ผู้เสียภาษีจริง เปรียบเทียบกับจำนวนผู้ที่ควรจะต้องอยู่ในระบบภาษี เพิ่มเติมจากข้อมูลปัจจุบันที่มีอยู่ในเรื่องของจำนวนผู้เสียภาษีเทียบต่อจำนวนประชากรหรือจำนวนแรงงานในพื้นที่ ทั้งนี้ ขอให้พยายามต่อไปในการสร้างแรงจูงใจในการเสียภาษี เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและบทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบการและประชาชนในการเสียภาษี รวมถึงพยายามปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้เสียภาษีเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้เสียภาษีที่ดีและผู้หลีกเลี่ยงภาษี
สถาบันการเงินเฉพาะกิจ
•ที่ผ่านมาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์สู่มิติใหม่ที่ทันสมัยและเข้าถึงประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้ประชาชนรากหญ้ามีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในการลงทุนในการผลิต การขยายกิจการ พัฒนาตลาด จนถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศ
•ในอนาคตความต้องการขอสินเชื่อของประชาชนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงจะต้องหาวิธีการปรับระบบสินเชื่อให้มีความรวดเร็ว เพื่อสามารถสนองตอบต่อความต้องการดังกล่าว และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน
•สถาบันการเงินเฉพาะกิจควรจะเป็นแหล่งเงินทุนในการพัฒนาสินค้าให้กับผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความเข้มแข็งและกิจการ OTOP ให้มีการขยายตัวมากขึ้น
------------------------------
สรุปประเด็นข้อสังเกตและความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เกี่ยวกับแนวทางการประสานงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
กับหน่วยงานในจังหวัดที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน
วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2548
แนวทางการประสานงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานกับหน่วยงานในจังหวัดที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน
• การดำเนินนโยบาย Dual Track Policy มุ่งเน้นการกระจายนโยบายระดับบนสู่ระดับพื้นที่แบบคู่ขนาน และส่งเสริมการบูรณาการการทำงานร่วมกับจังหวัดเพื่อความรวดเร็ว ฉับไว ในการบริหารเศรษฐกิจจังหวัด
• ระบบเศรษฐกิจของเมืองและท้องถิ่นมีช่องว่างค่อนข้างมาก เนื่องจากยังคงวัฒนธรรมธุรกิจแบบดั้งเดิมคือการซื้อมาขายไป ความรู้ความเข้าใจในการพัฒนารูปแบบธุรกิจและอุตสาหกรรมมีน้อย และขาดการเชื่อมโยงระบบการผลิตและการจำหน่ายที่จะช่วยลดช่องว่างความยากจน จะเห็นได้ว่าการส่งเสริม OTOP และ SMEs ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ SMEs เพื่อการอุตสาหกรรมยังมีอยู่น้อย
• ในอดีตรัฐบาลให้งบประมาณพิเศษสำหรับจังหวัด โดยมากใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น รวมถึงจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาจังหวัด ซึ่งเน้นการสร้างถนน สะพาน แต่ยังไม่ได้มีการมุ่งเน้นใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาที่สำคัญเท่าที่ควร จึงยังห่างจากเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง
• ในปัจจุบัน จังหวัดต่างๆ มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคสาธารณูปการขึ้นมาก สิ่งที่ต้องมุ่งเน้นต่อไปคือ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและวัตถุดิบของท้องถิ่น ร่วมกับปัจจัยที่รัฐบาลสนับสนุน ได้แก่ เงินงบประมาณ และการให้บริการของธนาคาร เพื่อสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมท้องถิ่น เป็นอุตสาหกรรมเฉพาะที่สะท้อนลักษณะพิเศษของแต่ละพื้นที่ และเชื่อมโยงเครือข่ายอุตสาหกรรมกับกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง
• การบริหารประเทศก้าวสู่มิติใหม่โดยบริหารด้วยระบบ CEO จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจตัดสินใจเพิ่มขึ้นในการบริหารความมั่นคงและเศรษฐกิจจังหวัดระบบ CFO จังหวัดของกระทรวงการคลัง จึงจะมีบทบาทและความสำคัญมากโดยเป็นส่วนเสริมการตัดสินใจและบริหารเศรษฐกิจของผู้ว่าฯ ทั้งนี้ CFO จังหวัดจะไม่ได้เน้นเพียงการจัดเก็บรายได้ บริหารการรับ-จ่ายเงิน แต่จะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น ร่วมกับ COO (Chief Operation Officer) ของอุตสาหกรรมจังหวัด CMO (Chief Marketing Officer) ได้แก่พาณิชย์จังหวัด เป็นต้น เพื่อวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของจังหวัดให้เป็นรูปธรรม
• เชื่อว่าแต่ละจังหวัดได้มีการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในแง่ความรวดเร็วของการตัดสินใจ แต่ยังขาดการริเริ่มจริงจังในการพัฒนาภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ให้นักธุรกิจท้องถิ่นสามารถเติบโตก้าวสู่ระดับใหญ่ขึ้นสู่ระดับประเทศ ซึ่งยังต้องการการสนับสนุนอย่างมากทั้งด้านเครื่องจักรอุปกรณ์ การให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการบริหารแบบมืออาชีพ และการให้โอกาสในการพัฒนา
• ปัจจุบันยังไม่เห็นอุตสาหกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคอีสานที่ชัดเจน ควรจะต้องศึกษาทรัพยากรที่มี ศักยภาพที่มี ตลอดจนความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องและผู้บริโภค ที่จะนำมาเชื่อมโยงเป็นโอกาสทางธุรกิจอุตสาหกรรมของภาคอีสาน ขอให้ระดมสมอง และหาแนวความคิดที่ชัดเจนให้ได้ว่าจะผลักดันอุตสาหกรรมหรือธุรกิจใด ทั้งนี้ รัฐบาลมีเครื่องมือที่พร้อมจะให้ความสนับสนุนอยู่แล้วมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนด้านสินเชื่อครบวงจรจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐตามโครงการ 4 ประสาน
• กระทรวงการคลังพร้อมที่จะให้ความสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของจังหวัด ขจัดปัญหาความยากจน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านเครื่องมือทางการ เงินการคลังที่มีอยู่ รวมทั้งจะใช้ระบบ CFO จังหวัดเป็นกลไกสนับสนุนการริเริ่ม และการดำเนินนโยบายและมาตรการในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้การดำเนินนโยบาย Dual Track Policy มีผลสัมฤทธิ์และนำเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวสู่การเป็น Single Track Economy ในระยะยาวต่อไป
ข้อเสนอแนะ ปัญหา และอุปสรรค ที่เกี่ยวข้องกับงานของกระทรวงการคลังในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
ปัญหาอุปสรรคของจังหวัดอุดรธานี
• อุดรธานีเป็นพื้นที่การเกษตร มีสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย จังหวัดจึงได้ส่งเสริมการต่อยอดผลผลิตการเกษตรโดยการส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมการเกษตร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยส่งเสริมโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นอันดับแรก
• เนื่องจาก จังหวัดอุดรธานีมีจุดเด่นด้านการเกษตร การท่องเที่ยว และการค้า จึงยังไม่สามารถผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมได้ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
• ยังคงมีอุปสรรคในการขอข้อมูลจากหน่วยงานที่มิใช่ส่วนราชการ เช่น ภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ส่งผลกระทบต่อการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ
• CFO จังหวัดยังไม่สามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดได้ อย่างเต็มที่ เนื่องจากส่วนใหญ่มีพื้นฐานและความชำนาญด้านบัญชีมากกว่าด้านเศรษฐศาสตร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
• อุดรธานีอาจไม่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ดังนั้น อุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมจะต้องเน้นอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อรองรับความต้องการอุตสาหกรรมในส่วนอื่นๆ ของประเทศ หรืออุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า
• ในระดับคณะรัฐมนตรี ได้ตั้งทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ ในส่วนของจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดควรจะมีเสนาธิการในระดับรองผู้ว่าราชการ ซึ่งอาจเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ข้าราชการ ที่จะช่วยริเริ่มหรือเสริมแนวคิดด้านเศรษฐกิจ และมีคณะกรรมการบริหารเศรษฐกิจของจังหวัด โดยในส่วนของกระทรวงการคลัง ก็พยายามจะสร้างทีม CFO จังหวัดให้เข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนการบริหารเศรษฐกิจจังหวัดในอีกทางหนึ่ง
ปัญหาอุปสรรคของจังหวัดขอนแก่น
• การประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับระบบ GFMIS ยังขาดความคล่องตัว
• ระบบการจัดเก็บข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดยังไม่ดีเพียงพอ ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้สนับสนุนการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาของจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันการ ซึ่งจังหวัดมีข้อเสนอแนะโดยจะจัดเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลการท่องเที่ยว แรงงาน การเกษตร อุตสาหกรรมเอง เพื่อให้การจัดเก็บข้อมูลครบถ้วน และรวดเร็ว ทั้งนี้ ขอให้ส่วนกลางสนับสนุนด้านงบประมาณ และบุคลากร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
• การจัดเก็บข้อมูลจริงให้ได้ครบถ้วนเป็นไปได้ยาก ดังนั้น วิธีการสร้างและพัฒนาระบบข้อมูลจึงต้องเน้นวิธีการประมาณการโดยอ้างอิงวิธีประมาณการตามหลักวิชาการ และขอให้เน้นการฝึกอบรมบุคลากรให้มีความสามารถในการใช้สถิติและการประมาณการเพื่อประโยชน์ในการเก็บข้อมูลรายจังหวัด
• ระบบ GFMIS ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม กรมบัญชีกลางจะได้ช่วยประสานในการแก้ไขปัญหากับทางสำนักนายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิดต่อไป
ปัญหาอุปสรรคของจังหวัดกาฬสินธุ์
• ที่ผ่านมาจังหวัดได้พัฒนาการจัดทำ GPP จังหวัด โดยมี สศช. และคลังจังหวัดเป็น พี่เลี้ยง ขณะนี้ สามารถจัดทำข้อมูล GPP ได้สำเร็จในระดับหนึ่ง ประมาณร้อยละ 60 ซึ่งเป็นประโยชน์และสามารถสะท้อนแนวโน้มของเศรษฐกิจจังหวัดได้ดี อย่างไร ก็ตาม ได้พยายามจะพัฒนาให้ได้ข้อมูลที่สอดคล้องกับความเป็นจริงและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
• อุตสาหกรรมในจังหวัด เน้นอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น โรงผลิตแป้งมันสำปะหลัง และ Modified Starch เป็นต้น โดยส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีที่สะอาดเป็นสำคัญ
• จังหวัดกาฬสินธุ์มีทรัพยากร วัตถุดิบ และปัจจัยการผลิตสำหรับภาคอุตสาหกรรมพร้อม เช่น แหล่งน้ำ และแรงงาน เป็นต้น รองรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ยังต้องการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อดึงดูดการลงทุน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
• โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเป็นสิ่งจำเป็น และรัฐบาลได้มีโครงการจัดสร้างรถไฟรางคู่ในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม อยากให้จังหวัดพิจารณาการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค เพื่อผลิตสินค้ารองรับความต้องการของคนในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้สามารถผลักดันอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นได้รวดเร็วและยั่งยืน และทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งที่มีอยู่ภายในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
• CFO จังหวัด จะต้องทำงานคล้ายกับ CFO ในบริษัทเอกชน โดยจะต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์งบดุล งบกำไรขาดทุนในทางเศรษฐกิจ และวิเคราะห์ผลตอบแทนการลงทุนในระดับจังหวัด ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์ GPP ต่อไป โดยรัฐบาลจะต้องจัดให้มีการฝึกอบรมการบริหารการเงินในระดับจังหวัด เช่น การสร้างรถไฟรางคู่ ที่ต้องใช้งบประมาณมาก จึงต้องวิเคราะห์ว่าจังหวัดจะมีอุตสาหกรรมใดที่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนสูงสุด
รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี
• ขอให้ช่วยพิจารณาแก้ไขปัญหาของชาวนา โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ เนื่องจากภาคอีสานมีข้าวเป็นสินค้าเกษตรหลัก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
• เห็นด้วยที่จะพัฒนาระบบเศรษฐกิจการเกษตรโดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นและใช้จำนวนแรงงานต่อไร่ให้ลดลง
• แหล่งน้ำที่รัฐบาลจะพัฒนาภายใต้โครงการ Mega Project มีทั้งสิ้น 26 ลุ่มน้ำ เป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ และระบบชลประทานเพื่อจัดสรรน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดันโครงการของรัฐในหลายๆ สาขาให้ได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ความล่าช้า ของโครงการ บางส่วนอาจเกิดจากปัญหาเรื่องผลประโยชน์ภาคเอกชนเอง ซึ่งส่ง ผลกระทบให้กระบวนการประมูลเกิดความล่าช้าหรือเกิดปัญหายืดเยื้อ
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น
• ปัจจุบันอุตสาหกรรมประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบและค่าสาธารณูปโภคเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือให้อุตสาหกรรมปรับตัวได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น ให้หักค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งในอัตราสูงขึ้น ในการคำนวณภาษี
• ต้องการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐช่วยเหลือด้านหลักทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับโครงการต่างๆ ภายใต้โครงการพี่เลี้ยงน้อง เนื่องจากหลักเกณฑ์ปัจจุบันมีความเข้มงวดมาก โดยอาจสนับสนุนในรูปของโครงการ Green Project ที่ให้สินเชื่อโดยปลอดหลักทรัพย์ค้ำประกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
• ภาคเอกชนอาจปรับตัวเพื่อลดต้นทุนค่าพลังงาน โดยหันไปใช้พลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ เช่น NGV โดยขณะนี้ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ใช้ NGV อย่างน้อยร้อยละ 50 ในภาคขนส่ง และมีมาตรการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนดังกล่าว โดยในส่วนของกระทรวงการคลังมีมาตรการ เช่น การให้สินเชื่อ มาตรการภาษี NGV และการยกเว้นอากรขาเข้าถังก๊าซ เป็นต้น
------------------------------
ผลสรุปการประชุมโครงการคลังสัญจร ครั้งที่ 1/2548 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน)
วันที่ 28 - 29 ตุลาคม 2548
ณ โรงแรมเจริญศรีแกรนด์ รอยัล จังหวัดอุดรธานี
โครงการคลังสัญจร ครั้งที่ 1/2548 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 11 จังหวัด ประกอบด้วย อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ นครพนม สกลนคร หนองคาย เลย มุกดาหาร และหนองบัวลำภู) ระหว่างวันที่ 28-29 ตุลาคม 2548 เป็นการจัดประชุมตามดำริของ นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชนทั่วประเทศ โดยให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจกรอบความคิด วิสัยทัศน์ แนวทางการทำงานของกระทรวงการคลังในทิศทางเดียวกัน ก่อให้เกิดเครือข่ายบุคลากรกระทรวงการคลังที่เข้มแข็ง และกลุ่มพันธมิตรที่จะมาร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคม ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้เป็นการจัดประชุมต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยในปีที่แล้วได้จัดการประชุมคลังสัญจรครั้งที่ 1/2547 (ภาคกลาง) ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และครั้งที่ 2/2548 (ภาคตะวันออก) ที่จังหวัดระยอง
การจัดประชุมได้แบ่งกรอบการประชุม ออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่หนึ่ง การมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานในพื้นที่ให้หน่วยงานในจังหวัด เพื่อสร้างความเข้าใจในยุทธศาสตร์และการแปลงยุทธศาสตร์ ของกระทรวงการคลัง ให้กับหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลังในภูมิภาค ส่วนที่สอง การนำเสนอนโยบาย ปัญหาและอุปสรรค และแนวทางแก้ไข ของหน่วยงานพื้นที่ในสังกัดกระทรวงการคลัง โดยผู้แทนจากกรมธนารักษ์ กรมบัญชีกลาง กรมศุลกากร กรมสรรพกร และกรมสรรพสามิต และส่วนที่สาม การประชุมสัมมนาร่วมจังหวัด ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด และการใช้เครื่องมือของกระทรวงการคลัง เพื่อแปลงนโยบายรัฐบาลสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรากหญ้าและภูมิภาค นโยบายดังกล่าว ได้แก่ การขจัดความยากจน การเพิ่มคุณภาพชีวิต การสนับสนุน SMEs และ OTOP และการอำนวยความสะดวกการค้าชายแดน
สามารถอ่านเอกสารโดยละเอียดได้จากเอกสารประกอบ