การเสนอผลการศึกษา เรื่อง “Macroeconomic Models ประสบการณ์ของประเทศไทย”
โดย ดร. เวทางค์ พ่วงทรัพย์
ผู้วิจารณ์: รศ.ดร.วิมุต วานิชเจริญธรรม และรศ.ดร.ราเชนทร์ ชินทยารังสรรค์
ดร. เวทางค์ พ่วงทรัพย์ ได้นำเสนอผลการสำรวจแบบจำลองทางเศรษฐกิจในประเทศไทยดังนี้ แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคเป็นระบบสมการที่จำลองความสัมพันธ์ และกลไกในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ ประมาณการเศรษฐกิจ รวมทั้งศึกษาผลกระทบของนโยบายเศรษฐกิจต่าง ๆ แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ปีคริสตศักราช 1936 แบบจำลองของหน่วยงานต่าง ๆ มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกัน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ใช้แบบจำลองแบบ Macroeconometric แบบจำลองทางเศรษฐกิจของ สศค. มีการพัฒนามาเรื่อย ๆ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์นโยบายการคลัง วิเคราะห์และประมาณการเศรษฐกิจ ดังนั้นแบบจำลอง FPO จึงเน้นการศึกษาระบบกลไกส่งผ่านของตัวแปรในภาคการคลังไปสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษี การใช้จ่ายและการชดเชยการขาดดุลของภาครัฐ อีกทั้งแบบจำลองยังจำแนกประเภทต่าง ๆ ของรายได้ภาครัฐ และให้ความสำคัญกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันต่อระบบเศรษฐกิจไทยอีกด้วย ในขณะเดียวกัน เนื่องจาก ธปท. มีการใช้นโยบายแบบ Inflation targeting แบบจำลองของ ธปท. จึงเน้นการศึกษาระบบการส่งผ่านผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยแบบจำลองนี้ให้ความสำคัญแก่ภาคการเงินและระบบราคา ตัวอย่างข้อแตกต่างระหว่าง 2 แบบจำลองข้างต้น คือ ในขณะที่สสค. ใช้ explicit forward looking ในการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคต ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ rational expectation theory
อีกรูปแบบหนึ่งของแบบจำลอง ได้แก่ CGE ซึ่ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ใช้ในการประมาณการ แบบจำลอง CGE แตกต่างกับ Macroeconometric Model เนื่องจากแบบจำลอง CGE เป็นแบบจำลองที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างภาคการผลิตต่าง ๆ
รศ. ดร. ราเชนทร์ ชินทยารังสรรค์ ได้เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมือนและแตกต่างกันของแบบจำลองต่าง ๆ โดยให้แง่คิดว่า การใช้เศรษฐมิติมีปัญหาหลายอย่าง เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์พฤติกรรมมนุษย์ได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากการตั้งสมมติฐานที่ไม่เป็นจริง เช่น การตั้งสมมติฐานว่าประชาชนมี Rational expectation ในขณะที่ ความเป็นจริงประชาชนไม่ได้มีพฤติกรรมที่เป็นเหตุเป็นผลเสมอไป เป็นต้น ในส่วนของผลการประมาณค่าสมการต่าง ๆ ในภาคเศรษฐกิจจริง ของธปท. กับ สศค. นั้น ทั้ง 2 แบบจำลองมีค่าสัมประสิทธิ์ และค่าความยืดหยุ่นของการบริโภคต่อการเปลี่ยนแปลงของรายได้ (income elasticity of consumption) ที่ใกล้เคียงกัน และจากผลการศึกษา เป็นที่น่าสังเกตว่าการออม (savings) ของประเทศมีแนวโน้มที่จะลดน้อยลง ส่วนการที่ income elasticity of export มีค่ามากกว่า 1 นั้น สามารถอธิบายด้วยการขยายตัวของ trade ที่มีมากกว่าการขยายตัวของ GDP หรือ ส่วนแบ่งในตลาดโลกของสินค้าและบริการส่งออกของประเทศไทยที่มีมากขึ้น ในส่วนของการเปรียบเทียบแบบจำลองต่าง ๆ นั้น ควรมีการทดสอบความสามารถในการจำลองระบบเศรษฐกิจจริงด้วยการเปรียบเทียบผลที่ได้จาก Simulation รศ. ดร. วิมุต วานิชเจริญธรรม ได้ให้ความเห็นว่าแบบจำลอง CGE นั้นเป็นแบบจำลองที่ค่อนข้างไม่เหมาะสมในการศึกษาเศรษฐกิจมหภาค ในช่วงหลัง ๆ นี้มีการใช้การวิเคราะห์เชิงอนุกรมเวลา (Time series analysis) ในการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคมากขึ้น Cointegration เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในการประมาณค่าสัมประสิทธิ์ในแต่ละสมการ แต่เนื่องจากตัวแปรต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กัน เช่น การบริโภค และการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องสร้างแบบจำลองที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสมการขึ้น แบบจำลองทางเศรษฐกิจที่ดีนั้นควรสร้างให้มีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยอาจต้องมีการทำการทดสอบ Goodness of fit ของแบบจำลอง อีกทั้งในส่วนของการตีความค่าสัมประสิทธิ์นั้น จะต้องคำนึงถึง Lucas Critique ด้วย Learning Process เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยเป็นกระบวนการปรับปรุงแบบจำลองในรายละเอียด แต่ยังคงไว้ซึ่งโครงสร้างหลักของแบบจำลอง สิ่งอื่น ๆ ที่ควรคำนึงถึงในการสร้างแบบจำลอง ได้แก่ Robustness และ Misspecification Problem ของแบบจำลอง
ก่อนจบการอภิปรายช่วงเช้า ดร. เวทางค์ ได้ตอบข้อสงสัยของผู้วิจารณ์ทั้ง 2 เกี่ยวกับการทดสอบ robustness และ misspecification ว่า ทาง สศค. เองมีการใช้ MAPE และ RMSE ในการทดสอบ Goodness of fit ของแบบจำลอง และกล่าวถึงหน่วยงานที่มีการสร้างแบบจำลองทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ เช่น IMF Bank of Cananda และ Bank of England ว่า ได้มีการพัฒนา Macroeconomic models ที่เน้นในด้านของ micro foundation ซึ่งทาง สศค. มองว่า จะเป็นแนวทางในการพัฒนาแบบจำลองทางเศรษฐกิจในอนาคต