สรุปการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “แบบจำลองเศรษฐกิจและการคาดการณ์: อดีต สู่ อนาคต”
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการพยากรณ์เศรษฐกิจจัดได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเปิดกว้างมากขึ้น ประกอบกันเศรษฐกิจมีความไม่แน่นนอนสูงขึ้น ดังนั้น หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เช่น สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำด้านเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็นต้องทราบแนวโน้มเศรษฐกิจล่วงหน้า เพื่อสามารถไปกำหนดนโยบายได้ถูกต้อง และสอดคล้องกันภาวะเศรษฐกิจ เครื่องมือการพยากรณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ได้นำเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ เศรษฐมิติ มาใช้ในการทำนายภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าไม่ใช่วิธีที่สามารถทำนายได้ถูกต้องแน่นนอน แต่ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในขณะนี้ ดังนั้น ก่อนนำไปใช้ควรจะรวมเอาข้อมูลอื่น ความรู้เศรษฐกิจรอบตัว พร้อมกับใช้ประสบประการณ์ หรือดุลยพินิจ ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำนายภาวะเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น หมายความว่า เราต้องรวมเอาทั้งศาสตร์ และศิลปะ เข้าด้วยกันมาใช้ จึงจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพยากรณ์ผิดพลาด อาจทำให้ประเทศชาติเสียหายได้จากการนำนโนบายที่ผิดพลาดมาใช้ แต่ก็ยอมรับว่าไม่มีเครื่องมือใดดีไปกว่าเศรษฐมิติ
ขณะที่ ประโยชน์ของแบบจำลองเองนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่พยากรณ์เศรษฐกิจเท่านั้น แต่จริงแล้ว ยังมีประโยชน์ในการวัดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากทั้งนโยบายเศรษฐกิจ ปัจจัยภายในประเทศ และภายนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานแต่ละหน่วยงานมีจุดมุ่งหมายไม่เหมือนกัน ทำให้รูปแบบโครงสร้างแบบจำลองไม่เหมือนกัน เช่น แบบจำลองของกระทรวงการคลัง จะเน้นด้านการคลัง เพื่อให้สามารถบอกว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้เท่าไร หรือธนาคารแห่งประเทศไทย จะเน้นด้านการเงิน เป็นต้น
ทั้งนี้ ดร.วีรพงษ์ ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้จัดทำแบบจำลอง ว่าจะต้องพึงระวังเกี่ยวกับขนาดของแบบจำลอง โดยแบบจำลองขนาดใหญ่ มีหลายภาคเศรษฐกิจ อาจจะพยากรณ์ได้ไม่ดีนัก แต่สามารถให้ข้อมูลได้ละเอียดในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ขณะที่แบบจำลองขนาดเล็ก อาจจะทำนายได้แม่นยำ แต่ขาดความสามารถในการวิเคราะห์ในรายละเอียด เพราะมีภาคเศรษฐกิจมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ดังนั้น จึงควรมีแบบจำลองทั้ง 2 ชนิดเพื่อใช้ตรวจสอบไขว้กัน รวมถึงในความจริงแล้วโครงสร้างเศรษฐกิจมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ข้อมูลที่ใช้ในแบบจำลองอาจจะรวมช่วงเวลาที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะนำมาสู่ปัญหา Specification error ของสมการได้ รวมถึงปัญหาการส่งผลของตัวแปร สามารถส่งผลในภายหลังได้หลายช่วงเวลา (Lag effect) โดยเฉพาะที่มาจากตัวแปรนโยบาย
นอกจากนี้ ดร.วีรพงษ์ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และนโยบายเศรษฐกิจที่ควรนำมาใช้ ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนได้คลี่คลายไประดับหนึ่งแล้ว เช่น ภัยแล้ง ไข้หวัดนก หรือผลกระทบจากคลื่นยักษ์ ส่งผลให้การลงทุนอยู่ใกล้เคียงกับการออม ส่งผลให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่สามารถชดเชยได้ ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรจำดำเนินการต่อไป คือ ใช้นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะปัจจุบันยอดหนี้ต่างประเทศ และหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ และตัวเลขเศรษฐกิจหลายด้านก็ปรับตัวดีขึ้น โดยการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ก็เป็นช่องทางหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเห็นว่า ควรเพิ่มจำนวนโครงการลงทุนให้มากขึ้น เพราะมูลค่าการลงทุน 1.7 ล้านล้านบาท จะมีการลงทุนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่เพียง 6 แสนล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนทางด้านสังคมซึ่งมีมูลค่าแต่ละโครงการไม่มากนัก และไม่ได้ลงถึงภาคเศรษฐกิจจริง
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 4.5 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม ถ้าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าระดับร้อยละ 5 ถือว่าจะทำภาคประชาชนจะประสบก็ปัญหาจากเศรษฐกิจ ทำธุรกิจยาก โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อย และกลุ่มค้าปลีก แต่ภาคเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นในตลาดโลก
สำหรับอัตราเงินเฟ้อเขากล่าวว่า มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจนจากราคาน้ำมัน โดยคาดว่าในปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ร้อยละ 4.5 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนไม่ใช่เกิดจากความต้องการ ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นห่วง แต่ทั้งนี้เพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อและเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยควรปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เร็ว เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ดร.วีรพงษ์ ให้ความเห็นว่า ในตลาดยังมีการคาดการณ์ว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง ขณะที่ราคาน้ำมันแพงจะฉุดราคาสินค้าให้สูงขึ้น จึงมีการกักตุนสินค้ากันมากโดยไตรมาสสองที่ผ่านมามีการนำเข้าเพื่อกักตุนวัตถุดิบขนาดใหญ่ตั้งแต่น้ำมัน เหล็ก ทองคำ และสารเคมี ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกก็ดึงสินค้าไว้ เพราะคาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปมากกว่านี้
ทั้งนี้ สิ่งที่ควรระวัง คือ อย่าให้เกิดภาวะการขาดดุลแฝด คือ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลงบประมาณพร้อมกัน เพราะจะเกิดปัญหาตามมาได้ โดยหากว่ารัฐบาลขาดดุลเพียงตัวใดตัวหนึ่งเศรษฐกิจก็จะสามารถรองรับได้ แต่หากว่าเกิดการขาดดุลทั้งสองอย่างพร้อมกันจะเกิดปัญหากับระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลสามารถรักษาระดับของดุลงบประมาณได้ดี คือ หากงบประมาณขาดดุลก็ขาดดุลเพียงเล็กน้อย แต่มีแนวโน้มที่จะเกินดุล ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ก็คงจะขาดดุล แต่ไม่มากนัก