หัวข้อ: บทบาท ความสำคัญ การใช้ประโยชน์ และผลกระทบของนวัตกรรมการเงินต่อเศรษฐกิจไทย
ผู้บรรยาย : ดร. โอฬาร ไชยประวัติ
บทสรุป:
ปัจจุบัน รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมทางการเงิน โดยได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน และนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากนโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (Asset capitalization) และนโยบายการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian bond market development initiative)
การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (Asset capitalization)
เป็นการนำสินทรัพย์ที่ยังมิได้นำมาใช้ประโยชน์ หรือมีค่าทางเศรษฐกิจน้อย มาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Securitization ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการระดมทุนโดยนำสินทรัพย์ที่มีกระแสรายรับในอนาคต อาทิเช่น รายได้จากการให้เช่าหรือการให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ลูกหนี้เช่าซื้อ ตลอดจนลูกหนี้บัตรเครดิต มาโอนให้กับนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special purpose vehicle: SPV) เพื่อให้ SPV นำสินทรัพย์มาหนุนหลังหลักทรัพย์ที่จะจำหน่ายแก่นักลงทุน โดยอาจอยู่ในรูปของตราสารหนี้ (Securitized debt) หรือ อยู่ในรูปตราสารทุนที่เรียกว่ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property fund) ซึ่งเป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ตัวอย่างของโครงการที่นำนวัตกรรมทางการเงินดังกล่าวมาใช้ คือ โครงการศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น
การพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian bond market development initiative)
เป็นมาตรการที่นายกรัฐมนตรี (พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร) ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว เพื่อระดมเงินออมที่มีอยู่ในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียมาใช้ในการลงทุนภายในภูมิภาค ผ่านการออกตราสารหนี้เอเชีย เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียให้มีศักยภาพอย่างแท้จริง จะมุ่งเน้นการออกพันธบัตรโดยหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย และออกในรูปสกุลเงินท้องถิ่น รวมทั้งมีสภาพคล่องสูง ตลอดจนมีการซื้อขายอย่างแพร่หลายในตลาดแรกและตลาดรอง ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียปัจจุบัน การจัดตั้งกองทุน ABF1 และ ABF2 เป็นผลงานส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย ที่กลุ่มธนาคารกลางที่เป็นสมาชิก EMEAPได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงแล้ว
ทั้งนี้ การพัฒนานวัตกรรมทางการเงินของประเทศไทยจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ประกอบด้วย 1) โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวย ทั้งทางด้านการเงิน การบัญชี ภาษี และกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ เพื่อรองรับนวัตกรรมทางการเงินที่กำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต2) สินทรัพย์ที่เครื่องมือทางการเงินอ้างอิงต้องมีศักยภาพ โดยสามารถสร้างกระแสรายรับได้อย่างแท้จริง และ 3) ตราสารทางการเงินต้องมีสภาพคล่องสูง โดยสามารถซื้อขายในตลาดรองได้อย่างแพร่หลายและสะดวกรวดเร็ว