หัวข้อ: นวัตกรรมทางการเงินในโลกและการประยุกต์ใช้ในประเทศไทย
ผู้บรรยาย: Mr.Boon-Chye Loh, Managing Director, Head of Global Markets Asia, Deutsche Bank AG Singapore
บทสรุป:
วิทยากรได้นำเสนอการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการดำเนินการของตลาดการเงิน โดยแบ่งช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 1987 – 1995 และช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 1995 จนถึงปัจจุบัน และความท้าทายในตลาดการเงิน ได้แก่
• ปริมาณการซื้อขายในตลาดการเงินต่าง ๆ เช่น ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ตลาดพันธบัตรรัฐบาลอเมริกา ตราสารทุน และอนุพันธ์ที่อิงกับตราสารทุนมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกประเภทหลักทรัพย์ แต่ส่วนต่างระหว่างราคาเสนอซื้อ-เสนอขาย (bid-ask spread) กลับมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
• ภาวะแวดล้อมในภูมิภาค ทั้งในรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีความจำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลลดการให้ความสนับสนุนลง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และราคาพลังงานที่สูงขึ้น สำหรับภาคธุรกิจประกันภัย กองทุนรวม กองทุนบำเหน็จบำนาญ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็มีปัญหาความไม่สอดคล้องของอายุของสินทรัพย์และหนี้สิน และความต้องการสินทรัพย์ระยะยาวที่ผลตอบแทนอิงกับอัตราเงินเฟ้อ สำหรับในภาคการธนาคารนั้น ธุรกิจการให้สินเชื่อแบบดั้งเดิมมีผลตอบแทนลดลง และมีความเสี่ยงสูงขึ้น รวมทั้งหันมาให้ความสำคัญกับตลาดลูกค้ารายย่อยเพิ่มมากขึ้น
• สำหรับในภูมิภาคเอเชีย การที่ธนาคารลดการให้สินเชื่อลงหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ภาคเอกชนต้องพึ่งพาตลาดตราสารหนี้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาตลาดตราสารอนุพันธ์ที่อิงกับตราสารหนี้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาด interest rate swaps
ทั้งนี้ วิทยากรได้เสนอประสบการณ์ของดอยช์แบงค์ (Deutsche Bank) ในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินต่าง ๆ เช่น การพัฒนาแนวทางการลดความเสี่ยงจากตราสารทุนเอกชน (Private equity) และสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยการนำสินทรัพย์เหล่านี้ มาสร้างเป็นหลักทรัพย์ที่ประกอบด้วยหลาย tranches ที่สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน แทนการทำ Securitization แบบดั้งเดิม หรือการขายสินทรัพย์เหล่านั้นออกไป ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากสินทรัพย์แล้ว ยังสร้างรายได้จากการบริหารสินทรัพย์ให้อีกด้วย
สำหรับตลาดสำหรับลูกค้ารายย่อยนั้น ดอยช์แบงค์เห็นว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาตอบสนองความต้องการตลาดของลูกค้ารายย่อย
นวัตกรรมทางการเงินยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในธุรกิจประกันชีวิต เช่น กรณีของธุรกิจประกันชีวิตในประเทศอังกฤษ ตามกฎเกณฑ์ของ Financial Services Authority (FSA) ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลระบบการเงิน ได้กำหนดให้บริษัทประกันชีวิตต้องมีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความไม่สอดคล้องของอายุของสินทรัพย์และหนี้สิน แต่เมื่อมีการนำตราสารที่อิงกับอัตราเงินเฟ้อมาใช้เพื่อปรับโครงสร้างด้านอายุของสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกัน ก็ทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องเพิ่มเงินกองทุนตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว
นอกจากนี้ นวัตกรรมทางการเงินยังอาจนำมาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการในการบริหารสินทรัพย์ในอนาคต ที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงจากการลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารทุนแบบดั้งเดิม ไปสู่การลงทุนในกองทุนที่อิงกับดัชนี และในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ตราสารทุนเอกชน หรือกองทุนประกันความเสี่ยง (Hedge funds) เพื่อให้มีส่วนต่างรายได้ (revenue margins) สูงขึ้น แต่มีความเสี่ยงลดลง
วิทยากรยังได้เสนอการนำ Credit derivatives มาใช้เพื่อลดต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงของบริษัทในเอเชีย และเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้แก่บริษัทประกันภัย ที่มักจะแสวงหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง สำหรับการประยุกต์ใช้ในตลาดลูกค้ารายย่อยนั้น เนื่องจากการลงทุนในสินค้า โภคภัณฑ์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ดอยช์แบงค์จึงได้พัฒนาสินทรัพย์ที่อิงกับตะกร้าของสินทรัพย์ที่ประกอบด้วยโลหะชนิดต่าง ๆ เพื่อเป็นสินทรัพย์ทางเลือกให้นักลงทุนในเกาหลี ไต้หวัน และฮ่องกง นอกจากนี้ ดอยช์แบงค์ยังพัฒนาสินทรัพย์ซึ่งมีลักษณะกึ่งตราสารหนี้ เพื่อตอบสนองภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งผลตอบแทนจากการดำเนินการของ Hedge funds ปรับลดลง
ท้ายที่สุด วิทยากรได้กล่าวถึงกองทุนคุ้มครองเงินต้นที่ดอยช์แบงค์พัฒนาและขายให้แก่นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันในยุโรปและเอเชีย รวมทั้งนักลงทุนรายย่อยในประเทศไทย โดยผลิตภัณฑ์นี้จะอิงกับดัชนีหรือ Arbitrage Index ที่คำนวณความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินตราต่างประเทศสกุลต่าง ๆ