สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
Fiscal Policy Office
Search
เปลี่ยนการแสดงผล :
THTHLanguage
     

    บทสรุปงานสัมนาเชิงวิชาการเรื่องนวัตกรรมทางการเงิน(3)

    หัวข้อ :  เสวนาเรื่องการใช้ตราสารอนุพันธ์แห่งประเทศไทย
    ผู้ร่วมเสวนา : 1)  ดร. เกศรา  มัญชุศรี  กรรมการผู้จัดการ บมจ. ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย)
                             2)  นางสินีนาถ  สิทธิรัตนะรังสี  ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและวิเคราะห์บัญชีและการเงิน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต
                             3)  ดร. ภากร  ปีตธวัชชัย  ผู้จัดการบริหารการเงิน  ธนาคารไทยพาณิชย์
                             4)  นายปริทรรศน์ เหลืองอุทัย  กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอสซีบี ควอนท์ จำกัด
    บทสรุป
               1.  คุณสินีนาถฯ เสนอข้อคิดสำหรับบริษัทที่จะใช้ตราสารอนุพันธ์ว่าก่อนอื่น ผู้บริหารกิจการจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงภาระความเสี่ยง (Risk exposure) ที่กิจการมีอยู่ จากนั้นจึงพิจารณาถึงทางเลือกของการป้องกันความเสี่ยงที่มีอยู่ทั้งหมด และเมื่อตัดสินใจที่จะเลือกใช้อนุพันธ์แล้ว ผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานจะต้องกำหนดเป็นนโยบายว่าจะรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน โดยกำหนดเพดานสูงสุดที่บริษัทจะรับได้ และทำความเข้าใจตลาด สินค้า และสัญญาอนุพันธ์ให้ถ่องแท้ ก่อนที่จะเลือกใช้อนุพันธ์ ทั้งนี้ ควรจะเลือกใช้อนุพันธ์ประเภทที่ตนชำนาญและมีโครงสร้างธุรกรรมไม่ซับซ้อน โดยบริษัทจะต้องมีเครื่องมือในการตรวจสอบและควบคุมความเสี่ยงที่ดี นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงความยืดหยุ่นในการล้างฐานะ (unwind) ในอนาคต และภาระภาษี วิธีการลงบัญชีที่จะเกิดขึ้นจากการทำสัญญาด้วย
               2.  คุณปริทรรศน์ฯ กล่าวถึงความสำคัญของอนุพันธ์ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว และในปัจจุบันมีมูลค่าการทำสัญญาอนุพันธ์รวมทั้งในและนอกศูนย์ซื้อขายถึง 273 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคิดเป็น 23 เท่าของ GDP ของสหรัฐอเมริกา  สำหรับในประเทศไทย จากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่ามีมูลค่าการซื้อขายอนุพันธ์ถึง 2 พันล้านดอลลาร์ สรอ.    ต่อปี ทั้งนี้ ตราสารอนุพันธ์เปรียบเสมือนเป็นกระบวนการการแปลงความเสี่ยงเป็นตราสาร (Risk securitization) ทำให้สามารถซื้อขายความเสี่ยงกับผู้ที่มุมมองด้านความเสี่ยงที่แตกต่างกันได้ และมองว่าการซื้อขายอนุพันธ์ไม่ใช่การพนันตราบใดที่มีธุรกรรมรองรับ (underlying transaction) โดยสิ่งที่สำคัญคือผู้ใช้ต้องกำหนดให้ได้ว่าตนสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับใด และต้องมีความเข้าใจในการประยุกต์ใช้อนุพันธ์ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของตน และเห็นว่าในกรณีของความเสียหายเกิดขึ้นกับธนาคาร Bearing ที่มีการลงทุนในตราสารอนุพันธ์เป็นจำนวนมากนั้น สาเหตุหลักมาจากการขาดระบบการควบคุมความเสี่ยงภายในที่ดีพอ ทำให้เกิดการฉ้อฉลจนเกิดความเสียหาย มิใช่เกิดจากตัวตราสารอนุพันธ์เอง ดังนั้น หากบริษัทมีระบบการควบคุมภายในที่ดีก็จะสามารถป้องกันความเสี่ยงจากการทำอนุพันธ์ได้
               3.  ดร. ภากรฯ ได้ให้มุมมองจากธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีฐานะเป็นทั้งผู้ใช้หรือผู้ลงทุนในอนุพันธ์และเป็นผู้เสนอขายอนุพันธ์ให้กับลูกค้าว่าจะต้องมีความเข้าใจที่กว้างและลึก ต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลสินค้าและทำความเข้าใจลูกค้าด้วย และเห็นว่าการทำอนุพันธ์จะต้องมองถึงฐานะความเสี่ยงในภาพรวม (Economic Exposure) ไม่ใช่มองเพียงรายธุรกรรม (Transaction exposure) เท่านั้น และเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้มีความท้าทายทั้งในด้านการกับดูแล การจัดทำบัญชี และภาษีเกิดขึ้น ซึ่งธนาคารจะต้องพิจารณาความพร้อมของทั้งธนาคารเองและลูกค้าด้วย ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงระบบการกำกับสถาบันการเงินตาม Basel II ที่คาดว่าจะเริ่มใช้ในปี ค.ศ. 2007 หรือการปรับปรุง Internation Accounting Standard (IAS) ส่งผลให้ให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  สำหรับในแง่ของการกำกับดูแลนั้น หน่วยงานกำกับทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และสำนักงาน ก.ล.ต. ควรกำหนดเกณฑ์กำกับธุรกรรมประเภทเดียวกันให้มีความสอดคล้องกันและไม่ลักหลั่น เพื่อให้มีการแข่งขันบนพื้นฐานที่เท่าเทียม (Level playing field)  โดยสินค้าที่อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันแต่มีลักษณะสำคัญเหมือนกัน ก็ควรมีแนวทางกำกับดูแลเดียวกัน นอกจากนี้ ควรเน้นให้มีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเข้าถึงง่ายซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยในการพัฒนาตลาดอนุพันธ์
               4.  ดร. เกศราฯ กล่าวถึงข้อดีของการมีตลาดอนุพันธ์ว่าผู้ลงทุนสามารถมีเครื่องมือในการป้องกันบริหารความเสี่ยงที่ใช้ได้สะดวกและลดภาระของผู้ลงทุนในการตรวจสอบรายละเอียดของสัญญา เนื่องจากสัญญาที่ซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยน (Exchange market) มีความเป็นมาตรฐานและมีสภาพคล่องกว่าที่ซื้อขายแบบ Over the Counter (OTC) ซึ่งเป็นการตกลงระหว่างบุคคล 2 กลุ่ม และมีการเปิดเผยราคาให้ทุกฝ่ายได้รับทราบอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยตลาดอนุพันธ์ที่ได้จัดตั้งขึ้นในปี 2548 และจะเริ่มเปิดซื้อขายในเร็วนี้ มีสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้กำกับดูแลภายใต้พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 โดยตลาดจะมีเกณฑ์ทั้งในด้านระบบซื้อขาย การกำกับดูแลสมาชิก โดยสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้อนุมัติเกณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้ สำนักหักบัญชีก็จะเป็นผู้ตรวจสอบความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทสมาชิก ผู้ลงทุนจึงสามารถมั่นใจในความโปร่งใสและตรวจสอบได้ สำหรับการซื้อขายอนุพันธ์ ผู้ลงทุนจะต้องเปิดบัญชีเพื่อส่งคำสั่งซื้อขายผ่านบริษัทสมาชิกของตลาดอนุพันธ์ ซึ่งเป็นได้ทั้งบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือบริษัทลูกของบริษัทนายหน้า รวมถึงบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ด้วย อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงลักษณะ กลไกการทำงาน ผลตอบแทน และความเสี่ยงของอนุพันธ์ซึ่งจะช่วยควบคุมปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
               5.  โดยสรุปแล้ว ผู้ร่วมเสวนาทุกท่านได้ให้ความสำคัญกับความรู้ ความเข้าใจของผู้ที่จะทำธุรกรรมอนุพันธ์ก็จะต้องเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงของอนุพันธ์ ความต้องการและวัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรมอนุพันธ์ รวมทั้งควรส่งเสริมให้มีระบบการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงปรับปรุงการกำกับดูแลธุรกรรมตราสารอนุพันธ์ให้มีความเท่าเทียม

Page View : 1016