สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
Fiscal Policy Office
Search
เปลี่ยนการแสดงผล :
THTHLanguage
     

    บทสรุปงานสัมนาเชิงวิชาการเรื่องนวัตกรรมทางการเงิน(8)

    หัวข้อ: ตราสารอนุพันธ์กับความท้าทายในการกำกับดูแล (Derivatives Regulatory Challenges for Thailand)
    ผู้ร่วมเสวนา:  1) ดร. ชัยพัฒน์ สหัสกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
                            2) นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโสสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
                            3) นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายความเสี่ยงและวิเคราะห์ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
                            4) นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินรายการ: นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

    บทสรุป
              คุณพงษ์ภาณุเศวตรุนทร์ ผู้ดำเนินรายการ ได้ขอให้ผู้ร่วมเสวนาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดอนุพันธ์ กรอบการกำกับดูแลตลาดในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานกำกับ และความท้าทายในการกำกับดูแล ซึ่งความเห็นของผู้ร่วมเสวนาสรุปได้ดังนี้
              1. คุณสามารถ ได้กล่าวถึงกรอบการกำกับดูแลเกี่ยวกับธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินที่ดำเนินการโดยธนาคารพาณิชย์ว่าจำเป็นต้องมีระบบการกำกับดูแล เพื่อมิให้มีการทำธุรกรรมจนมีความเสี่ยงมากเกินไป ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ เช่น กลต. ในการออกนโยบายกำกับดูแลผ่านคณะกรรมการนโยบายการเงินซึ่งมีผู้แทน กลต. ร่วมอยู่ด้วย  นอกจากนั้น เกณฑ์การกำกับดูแลปัจจุบันก็อาจมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง  สำหรับความท้าทายในการกำกับดูแลนั้น ผู้กำกับจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ เพื่อจะได้ตามทันการเปลี่ยนแปลงของตลาด นอกจากนั้น จากความกังวลของภาคเอกชนที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถทำธุรกรรมอนุพันธ์เฉพาะธุรกรรมแบบพื้น (Plain Vanilla) นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างพิจารณาให้การอนุญาตทำธุรกรรมแบบที่ซับซ้อนขึ้น โดยขณะนี้ได้ให้เป็นรายกรณีแล้วและจะพิจารณาอนุญาตเป็นการทั่วไปในอนาคต
              2. คุณประเวช กล่าวถึงความท้าทายในการกำกับบริษัทหลักทรัพย์ว่าจะต้องหาแนวทางทำให้ตลาดประสบความสำเร็จในการพัฒนา และดำเนินการด้วยความเรียบร้อย กล่าวคือสินค้าในตลาดต้องสามารถตอบสนองความต้องการของนักลงทุน ตลาดต้องมีสภาพคล่อง สินค้าในตลาดต้องเหมาะกับการบริหารความเสี่ยง นอกจากนั้น สำหรับตลาดล่วงหน้า หรือ TFEX ซึ่งจะเปิดดำเนินการในเดือนพฤศจิกายนนี้  จะมีผลิตภัณฑ์หลายผลิตภัณฑ์  ซึ่งผลิตภัณฑ์แรกจะเป็น SET Index ซึ่งเป็น futures ต่อไปจะเป็น index ทางการเงินตัวอื่นๆ เช่น Interest rate futures ซึ่งจะทำให้ตลาดมีความสมบูรณ์มากขึ้น เพราะสามารถที่จะบริหารความเสี่ยงทั้งในตลาด cash และ futures ในการกำกับดูแลนั้น TFEX มีการคัดเลือกสมาชิกในตลาดเพื่อให้ผู้ลงทุนในตลาดมีความมั่นใจในระดับหนึ่ง ปัจจุบันหลังจากที่กระบวนการให้ใบอนุญาตเสร็จสิ้นลง มีผู้สมัครประมาณ 30 ราย สำหรับในระยะยาวนั้น จะใช้เกณฑ์การคัดเลือกเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ซึ่งตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้จัดสอบด้วย นอกจากนั้น เพื่อให้มีสภาพคล่องในตลาด จึงจำเป็นต้องมี broker เป็นตัวกลางให้ผู้ลงทุนทราบถึง product ต่างๆ ที่มีอยู่ในตลาด และให้บริการนักลงทุนต่างประเทศด้วย
              3. ดร. ชัยพัฒน์ ได้กล่าวถึงเกณฑ์การกำกับดูแลว่าไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เนื่องจากผู้กำกับต่างก็อิงเกณฑ์สากลในการกำกับดูแล ตราสารอนุพันธ์มีประโยชน์ในการโอนความเสี่ยง หรือการประกันความเสี่ยง (hedging) ซึ่งควรทำ futures ก่อน เมื่อมีสภาพคล่องพอสมควรแล้วจึงทำ option ต่อไป  สำหรับสิ่งท้าทายในการกำกับดูแลตลาดซื้อขายล่วงหน้า เนื่องจากอยู่ในช่วงต้นของการเริ่มธุรกิจ และการสร้างระบบที่สามารถป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าเป็นสิ่งใหม่ในประเทศไทย ผู้ลงทุนอาจยังไม่เข้าใจดีพอ และการลงทุนตลาดซื้อขายล่วงหน้ามีความแตกต่างจากการลงทุนในตลาดหุ้น เช่น Daily price limits สินค้าที่ซื้อขายในตลาด กรรมสิทธิ์บนสินค้า และกลยุทธ์ในการลงทุน เป็นต้น นอกจากนั้น วัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลคือการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ซื้อผู้ขายในตลาด
               4.  คุณมนตรีฯ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลตลาดอนุพันธ์จากมุมมองของภาคเอกชนซึ่งได้ทำงานร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอด โดยคุณมนตรีฯ ได้แสดงความเข้าใจในบทบาทของฝ่ายกำกับดูแลที่จะต้องให้ความเป็นธรรม คุ้มครองผู้ลงทุน และคุ้มครองระบบ เนื่องจากการรักษาประโยชน์ของผู้ลงทุนก็เป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจในระยะยาวด้วย  สำหรับสิ่งที่เป็นความท้าทายในการกำกับดูแลนั้น ประกอบด้วย 1) การพัฒนาสินค้าในตลาด ให้มีความหลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกที่ตรงกับความต้องการของนักลงทุน เนื่องจากในปัจจุบันนวัตกรรมการเงินมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว การกำกับดูแลในเรื่องของสินค้าจะต้องทันกับตลาดและทันกับต่างประเทศด้วย  2)  การพัฒนานักลงทุน โดยผู้กำกับดูแลจะต้องยอมรับที่จะให้นักลงทุนรู้จักความเสี่ยงด้วยตนเอง และรู้จักการจัดสรรวงเงินลงทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของตน  3)  ความร่วมมือกับเอกชน  เห็นว่าภาครัฐไม่ควรเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ทั้งหมด เนื่องจากเกณฑ์บางอย่างจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและทันกับสถานการณ์ ควรที่จะให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือสมาคมที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ในบางเรื่องได้เอง โดยได้เน้นความสำคัญของการเป็น SRO : Self Regulatory Organization ของทั้งตลาดอนุพันธ์ สำนักหักบัญชี ที่ต้องทำหน้าที่กำกับดูแลสมาชิก และบริษัทนายหน้าซื้อขายอนุพันธ์เองก็ต้องมีการกำกับดูแลบุคลากรของบริษัทด้วย  4)  การควบคุมความเสี่ยง  ควรมีประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างหน่วยงานกำกับและผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดวงเงินของลูกค้าของบริษัทที่ลงทุนทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอนุพันธ์ที่สมเหตุสมผล  นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นความท้าทายที่สำคัญที่มีอยู่ในเวลานี้เกิดจากการที่ตลาดยังมีความแยกกันอยู่ระหว่างตลาดหลักทรัพย์ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ตลาดตราสารทุน และตลาดตราสารหนี้ ในขณะที่หน่วยงานกำกับพยายามที่จะให้ลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจนายหน้าเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน อย่างไรก็ดี ระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทหลักทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับแต่ละตลาดยังแยกกันอยู่ และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการแบ่งวงเงินของลูกค้า ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ยังมีความกังวลอยู่ว่าหากจะต้องแบ่งวงเงินของลูกค้าไปลงทุนในตลาดอนุพันธ์ วงเงินสำหรับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัทจะลดลง ซึ่งความท้าทายดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องที่จะต้องพัฒนาและหาทางออกต่อไป
              5.  คุณพงษ์ภาณุฯ ได้กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงการคลังในการกำกับดูแลที่สามารถทำได้เพิ่มเติม ได้แก่ 1) การจัดสัมมนาให้ความรู้ด้านการลงทุนแก่ประชาชน 2)  การสร้างความสมดุลระหว่างการกำกับและการพัฒนาที่เหมาะสม และช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้มีความสมบูรณ์  และ 3)  การประสานการกำกับดูแล โดยกระทรวงการคลังจะช่วยดูแลเพิ่มเติมจากการกำหนดนโยบายของคณะกรรมการนโยบายระบบสถาบันการเงิน

Page View : 690