สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
Fiscal Policy Office
Search
เปลี่ยนการแสดงผล :
THTHLanguage
     

    การพัฒนากรอบความยั่งยืนด้านการคลัง

    การพัฒนากรอบความยั่งยืนด้านการคลัง

    โดยกลุ่มงานบริหารความเสี่ยงทางด้านการคลัง

                            ความยั่งยืนทางการคลังหรือความมีเสถียรภาพด้านการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว รวมทั้งการมีวินัยทางการคลังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับประเทศไทย เพราะนอกจากจะทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปสามารถมั่นใจในเสถียรภาพด้านการคลังของประเทศแล้ว ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และความน่าเชื่อถือด้านการคลังของประเทศในเวทีโลก เช่น องค์กรด้านการเงินระหว่างประเทศและบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

                            เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ความยั่งยืนหรือเสถียรภาพทางการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้จัดทำกรอบความยั่งยืนด้านการคลัง หรือ การประมาณการรายได้ รายจ่าย ดุลการคลัง และหนี้สาธารณะ ในระยะปานกลาง 5 ปี  ของรัฐบาล เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการทางด้านการคลัง และนำมาพิจารณาร่วมกับแผนและมาตรการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล  สำหรับตัวชี้วัดและเป้าหมายของกรอบความยั่งยืนด้านการคลังได้ถูกกำหนดขึ้นและมีการปรับปรุงแก้ไขแล้วจำนวน 4 ครั้ง ดังนี้
                              ครั้งที่1   ในเดือนพฤศจิกายน 2544  ตัวชี้วัดและเป้าหมายของกรอบความยั่งยืนด้านการคลังได้ถูกกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรก ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดเชียงใหม่
                                                    ตัวชี้วัดที่ 1   ยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 65
                                                    ตัวชี้วัดที่ 2 ภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกินร้อยละ 16
                                                    ตัวชี้วัดที่ 3 งบประมาณสามารถสมดุลได้ในปีงบประมาณ 2552
                               ครั้งที่2 ในเดือนมิถุนายน 2545  เมื่อกระทรวงการคลังเข้ารับภาระความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ได้มีการปรับปรุงเป้าหมายของกรอบความยั่งยืนด้านการคลัง
                                                    ตัวชี้วัดที่ 1   ยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60
                                                    ตัวชี้วัดที่ 2 ภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกินร้อยละ 16
                                                    ตัวชี้วัดที่ 3 งบประมาณสามารถสมดุลได้ในปีงบประมาณ 2551
                              ครั้งที่3 ในเดือนกรกฎาคม 2546  คณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจได้ให้ความเห็นชอบกับกรอบความยั่งยืนทางการคลังใหม่ และนำเสนอรัฐมนตรีทราบ
                                                    ตัวชี้วัดที่ 1   ยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 55
                                                    ตัวชี้วัดที่ 2 ภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกินร้อยละ 16
                                                    ตัวชี้วัดที่ 3 งบประมาณสามารถสมดุลได้ในปีงบประมาณ 2548
                              ครั้งที่4  ในเดือนเมษายน 2547  คณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจได้ให้ความเห็นชอบกับกรอบความยั่งยืนทางการคลังใหม่ ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน
                                                    ตัวชี้วัดที่ 1   ยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 50
                                                    ตัวชี้วัดที่ 2 ภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกินร้อยละ 15
                                                    ตัวชี้วัดที่ 3 งบประมาณสามารถสมดุลได้ในปีงบประมาณ 2548
                            ตัวชี้วัดที่ 4 รายจ่ายลงทุนต่องบประมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25

                              สำหรับการจัดทำกรอบความยั่งยืนด้านการคลังนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังอาศัยเครื่องมือสำคัญได้แก่ แบบจำลองความยั่งยืนด้านการคลัง (Fiscal Sustainability Model) หรือแบบจำลองที่ใช้ในการประมาณการรายได้ รายจ่าย ดุลการคลัง และหนี้สาธารณะของรัฐบาล ซึ่งในการประมาณการดังกล่าวได้มีการนำสมมติฐานต่างๆ เกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายในกรอบงบประมาณ ที่มาจากแผนและมาตรการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เช่น รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ รายจ่ายลงทุนจากจากงบประมาณของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ (Mega Projects) มารวมไว้แล้ว

                              สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้มีการปรับปรุงตัวชี้วัดและเป้าหมายของกรอบความยั่งยืนด้านการคลังและแบบจำลองความยั่งยืนด้านการคลังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะด้านเศรษฐกิจ การคลังของประเทศ และก่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลัง นอกจากนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้มีการเผยแพร่กรอบความยั่งยืนด้านการคลังแก่สาธารณชนผ่านรายงานสถานการณ์ด้านการคลังของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นประจำทุกเดือนอีกด้วย

Page View : 3308