สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
Fiscal Policy Office
Search
เปลี่ยนการแสดงผล :
THTHLanguage
     

    สรุปผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเงินเอเปค ครั้งที่ 4

    สรุปผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเงินเอเปค ครั้งที่ 4
    ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2551
    ณ เมืองคุสโค สาธารณรัฐเปรู
          

                             ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องปัญหาราคาเชื้อเพลิงและอาหาร รวมทั้งปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยผู้แทนองค์กรการเงินระหว่างประเทศ ได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ได้มารายงานสภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยได้วิเคราะห์ว่า ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะชะลอตัว แต่ยังเป็นบวกเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากความเสี่ยงจากภาคการเงินได้ลดลงแล้ว แต่ยังมีความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและอาหาร  ในตลาดโลก และคาดว่า สินค้าดังกล่าวจะยังคงมีราคาสูงต่อไป จึงควรมีการกำหนดนโยบาย เพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดพลังงาน และมีการวางแผนการขยายกำลังการผลิตอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ นโยบายด้านไบโอดีเซลจะต้องเปิดกว้างและเหมาะสมกับสถานการณ์ และควรยกเลิกข้อจำกัดด้านอุปทานของสินค้าเกษตร เช่น การจัดเก็บภาษีส่งออก เป็นต้น และเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้มีจำนวนประชากรที่ยากจนทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 37 ล้านคนในปี 2548 เป็น 105 ล้านคนในปี 2550 จึงควรมีนโยบายให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านการเงินและด้านเทคนิคเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรทั้งระบบ

                             ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคควรมีบทบาทในการพิจารณาแนวทางเพื่อรองรับผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมหภาค และความท้าทายด้านการคลังที่เกิดจากราคาสินค้าอาหารที่สูงขึ้นดังกล่าว

                             นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ยังมีปัญหาจากภาคการเงินที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งขณะนี้ สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญต่อความโปร่งใส (Transparency) ในระบบการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความโปร่งใสในการดำเนินการของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Funds: SWFs) โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำแนวนโยบายที่โปร่งใสสำหรับผู้ลงทุนและประเทศที่มีการลงทุนอย่างไรก็ดี บางเขตเศรษฐกิจเห็นว่า ปัญหาที่เกิดจากภาคการเงินไม่ได้มาจาก SWFs โดยตรงดังนั้น หากจะให้ความสำคัญกับความโปร่งใส ควรจะให้ครอบคลุมถึง Mutual Fund และ Hedge Fund ที่เป็นต้นเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านๆมาด้วย

                             การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 15 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 พฤศจิกายน 2551 ณ เมือง Trujillo สาธารรัฐเปรู  โดยที่ประชุมได้พิจารณาหัวข้อหลัก (Theme) สำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 15 ดังนี้

                             1. Capital Market Reform

                                  ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องความสำคัญของตลาดทุนและแนวทางพัฒนาตลาดทุนในภูมิภาค โดยมีสมาชิกเขตเศรษฐกิจหลายเขตที่ใช้แนวทางการใช้ระบบ Public-Private Partnerships (PPP) เพื่อพัฒนาตลาดทุน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเห็นว่า PPP เป็นระบบที่เป็นประโยชน์ต่อ Emerging Economies ที่มีความต้องการการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยจะช่วยลดภาระการคลังภาครัฐ และช่วยพัฒนาตลาดทุน โครงการส่วนใหญ่ของ PPP จะระดมทุนผ่านตราสารต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น และปัจจุบันกองทุนเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาครัฐจะต้องมีกฎหมายและระบบการกำกับดูแลที่เหมาะสม และไม่เป็นอุปสรรคต่อนักลงทุนสถาบันที่ต้องการลงทุนในตลาดดังกล่าว รวมทั้งต้องมีระบบการทดสอบ Value-For-Money (VFM) สำหรับประเมินความคุ้มค่าของโครงการ PPP  

                                 นอกจากนี้ ผู้แทนองค์การการเงินระหว่างประเทศได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคควรให้ความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างตลาดทุนอย่างเป็นระบบ โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาตลาด Corporate Bond, Equity and Derivatives ซึ่งรวมถึงการให้ความสนับสนุนและพัฒนานักลงทุนสถาบัน สนับสนุนการขยายฐานนักลงทุน และการลงทุนจากต่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งต่อโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุน ตลอดจนพัฒนาระบบกำกับดูแลให้โปร่งใสและเป็นที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งพัฒนาสภาพคล่องของตลาดทุน

                                 ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ควรกำหนดขอบเขตในการพิจารณาแนวทางในการพัฒนาตลาดทุนเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุน  (2) การพัฒนาด้านด้านอุปสงค์โดยเพิ่มฐานนักลงทุน และ (3) การพัฒนาด้านอุปทานโดยเพิ่มสภาพคล่องของสินทรัพย์


                             2. Improving the Quality of Public Expenditure

                                  ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแนวทางการจัดทำงบประมาณโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result-Based Budgeting: RBB) ซึ่งสมาชิกเขตเศรษฐกิจที่ได้ดำเนินการแล้วได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเห็นในการดำเนินการดังกล่าว โดยเห็นว่า การจัด RBB เป็นแนวทางการจัดทำงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญคือ จะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน อีกทั้งต้องมีระบบตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของงาน และระบบการประเมินผลที่เหมาะสม ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับหลายสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค       

                                 ที่ประชุมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรขยายขอบเขตของหัวข้อหลักสำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคจากหัวข้อ Result-Based Budgeting เป็น Improving the Quality of Public Expenditure เพื่อให้ครอบคลุมการพัฒนาระบบการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งรวมไปถึงการบริหารความเสี่ยงด้านการคลังด้วย
    สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
    สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
    สิงหาคม 2551

Page View : 593