ชี้แจงประเด็น : การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ เงินเดือนข้าราชการและลูกจ้าง รวมทั้งประเด็นปัญหาหนี้เสีย (NPLs) ของสถาบันการเงิน
ข้อเท็จจริง :
• ประเด็นการงดจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนกันยายน 2563 และกระทรวงการคลังจะสามารถ
จ่ายเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างได้อีกเพียง 3 เดือนนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
• กรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการไม่ได้มีการงดจ่าย แต่เป็นเพียงการเลื่อนจ่ายเนื่องจากมีการปรับปรุงยอดงบประมาณให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของการจ่ายเงินดังกล่าวในปีงบประมาณ 2563 โดยขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อมาจ่ายเงินดังกล่าวแล้ว และกรมบัญชีกลางจะได้ดำเนินการจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิ์ต่อไป โดยจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 นี้
• สำหรับกรณีเงินเดือนข้าราชการนั้น รัฐบาลได้จัดสรรค่าใช้จ่ายเงินเดือนและค่าจ้างของบุคลากรภาครัฐไว้อย่างเพียงพอแล้วตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีในแต่ละปี ทั้งนี้ เงินคงคลังในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง เพียงพอเพื่อรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐซึ่งรวมถึงเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังคงมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรหรือรายได้อื่น ๆ เพื่อนำมาใช้จ่ายในการบริหารประเทศได้ตามปกติ และยังมีแหล่งเงินที่เพียงพอเพื่อรองรับการใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐและดำเนินนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
• ในส่วนของประเด็นปัญหาหนี้เสีย (NPLs) ของสถาบันการเงินนั้น ภาครัฐมีโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ของผู้ประกอบการและประชาชน โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันและรวมหนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา NPLs โดยกลไกดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ทำให้มีภาระที่ต้องจ่ายต่องวดลดลงและอัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายตลอดระยะเวลาสัญญาจะไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการพักชำระหนี้ที่ลูกหนี้ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยในช่วงนั้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายตลอดสัญญาสูงขึ้น ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
1. โครงการ DR BIZ กำหนดกลไกการปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจของลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งเป็นการลดภาระหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้
2. โครงการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมด้วยวิธีการรวมหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคลมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้รวมกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้ลูกหนี้มีภาระในการผ่อนชำระหนี้ลดลงทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น โดยไม่ทำให้เสียประวัติข้อมูลเครดิต รวมทั้งยังสามารถใช้วงเงินบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่เหลือได้
• กระทรวงการคลังคาดว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างดี สำหรับประเด็นการกันสำรองของธนาคารกรณีที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ NPLs นั้น เมื่อสถาบันการเงินมีการกันสำรองเมื่อลูกหนี้เป็น NPLs สถาบันการเงินจะเป็นผู้เก็บเงินไว้เองโดยไม่ต้องส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งการกันสำรองของสถาบันการเงินเป็นการรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฐานะทางการเงินและกระทบต่อเงินฝากของประชาชน
Link Live Facebook :
shorturl.at/exFGS