สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
Fiscal Policy Office
Search
เปลี่ยนการแสดงผล :
THTHLanguage
ชี้แจงข้อวิจารณ์ : ประเด็นการหลบเลี่ยงการเสียภาษีจากกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
 

 

ชี้แจงข้อวิจารณ์ : ประเด็นการหลบเลี่ยงการเสียภาษีจากกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

ข้อเท็จจริง : กระทรวงการคลังขอชี้แจง ดังนี้

 

สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... 

(ร่างพระราชบัญญัติฯ) และเห็นสมควรใช้บังคับเป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 โดยขณะนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่ระหว่างนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยจะเริ่มจัดเก็บภาษีในวันที่ 1 มกราคม 2563

วัตถุประสงค์หลักของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภาษีที่ดินฯ) คือ เพื่อปฏิรูประบบภาษีทรัพย์สินของประเทศให้เป็นสากลและจัดเก็บรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แทนภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งใช้จัดเก็บภาษีมาเป็นเวลานานกว่า 50 ปี นอกจากนี้ ภาษีที่ดินฯ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้มีการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเจ้าของที่ดินที่ปล่อยให้รกร้างหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์จะต้องเสียภาษีที่ดินฯ ในอัตราที่สูง

หลักการของภาษีที่ดินฯ จะจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยคำนวณจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถือครองและลักษณะการใช้ประโยชน์ โดยแบ่งการใช้ประโยชน์เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

การประกอบเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์อื่นนอกจากเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย ฉะนั้น เจ้าของที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ก็ต้องเสียภาษีที่ดินฯ ตามลักษณะการใช้ประโยชน์เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีที่ดินสำหรับเกษตรกรรมในกรณีนิติบุคคลเป็นเจ้าของที่ดินจะไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมที่อยู่ภายในเขต อปท. รวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท และจะเสียภาษีบนมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มจำนวนในอัตราเกษตรกรรม จะเห็นได้ว่าการครอบครองและปล่อยเช่าที่ดินของนิติบุคคลไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือหลบหนีภาษีที่ดินฯ ได้

ด้วยเหตุนี้ การที่นายทุนหรือเจ้าของที่ดินนำที่ดิน ซึ่งรกร้างว่างเปล่าและจัดเก็บภาษีได้น้อยในปัจจุบันออกมาใช้ประโยชน์ เช่น การปล่อยเช่าจะทำให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินทำกินสามารถเข้าถึงหรือสามารถเช่าที่ดินเพื่อประกอบอาชีพมากขึ้น เป็นต้น จึงไม่ถือเป็นช่องว่างหรือความล้มเหลวของภาษีที่ดินฯ แต่กลับสะท้อนถึงความสำเร็จของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามวัตถุประสงค์